ชีวประวัติ ของ ฟรานซิส เบคอน (ศิลปิน)

ชีวิตในวัยเด็กและจุดเริ่มต้นในวงการศิลปะ

ฟรานซิส เบคอน เกิดวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1909 ในครอบครัวชาวอังกฤษที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์[1] โดยเขาได้รับการตั้งชื่อตามฟรานซิส เบคอน บรรพบุรุษที่เป็นนักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ[2] บิดาของเบคอนมีชื่อว่า แอนโทนี เอ็ดวาร์ด มอร์ติเมอร์ เบคอน (Anthony Edward Mortimer Bacon) เป็นอดีตนายกัปตันกองทัพทหาร ปัจจุบันมีอาชีพผสมพันธุ์และฝึกม้าที่ใช้ในการแข่งขัน ส่วนมารดาชื่อ คริสติน่า วินิเฟร็ด ลอคเล่ เบคอน (Christina Winifred Loxley Bacon) มาจากครอบครัวเชฟฟีลด์ ตระกูลการทำธุรกิจเหล็กกล้า[3] ในช่วงแรกครอบครัวเบคอนอาศัยอยู่ในประเทศไอร์แลนด์ แล้วก็ย้ายกลับมายังลอนดอนในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพราะเอ็ดวาร์ดผู้เป็นพ่อต้องเข้าร่วมรบกับกองทัพ หลังจบสงครามพวกเขาก็ย้ายกลับมายังประเทศไอร์แลนด์อีกในปี ค.ศ. 1916 จากนั้นก็มีการโยกย้ายไปมาหลายเมือง ช่วงปี ค.ศ. 1924-1926 ฟรานซิส เบคอนมีประสบการณ์ในการศึกษาอย่างยาวนานที่ The Dean Close School ในเมืองเชลต์นัม ประเทศอังกฤษ การใช้ชีวิตในบ้านเต็มไปด้วยความเย็นชา พ่อเป็นคนหัวรุนแรง แม่เป็นคนชอบเข้าสังคม ซึ่งมักจะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง[4] และในวัยเด็กเบคอนเป็นโรคหอบหืดเรื้อรัง ทำให้มีผลต่อการศึกษาซึ่งเขาจะต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน[5] ภายในบ้านเบคอนมีความสนิทสนมกับพี่เลี้ยงคือ เจสซี่ ไลท์ฟุท (Jessie Lightfoot) มากที่สุด ซึ่งต่อมาทั้งสองก็จะเดินทางไปยังลอนดอนด้วยกัน[6]

ความสัมพันธ์ในครอบครัวของเบคอนย่ำแย่ลง เนื่องจากฟรานซิส เบคอนเป็นพวกรักร่วมเพศ (homosexual) เขาจึงถูกไล่ออกจากบ้านในปี ค.ศ. 1926 ตอนอายุ 16 ปี หลังจากที่พ่อจับได้ว่าเขากำลังลองสวมชุดของแม่[7] เขาเดินทางไปยังลอนดอน และหลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสถานที่ยามค่ำคืนของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งได้พิสูจน์สภาวะทางจิตใจของเขาว่าเป็นเช่นนั้นจริง จากนั้นก็ได้เดินทางไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้ฟรานซิส เบคอนเริ่มสนใจการเข้าชมแกลอรี่ศิลปะ[8] เมื่อเขากลับมายังลอนดอนในปี ค.ศ. 1920 ก็เริ่มทำงานการออกแบบตกแต่งภายใน ทั้งออกแบบเฟอร์นิเจอร์และพรม ซึ่งหนึ่งในลูกค้าของเขาคือรอย เดอ ไมสทีย์ (Roy de Maistre) ศิลปินคนหนึ่งซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นที่ปรึกษา และได้สนับสนุนให้เบคอนวาดภาพสีน้ำมัน[9] โดยเบคอนเริ่มวาดภาพผลงานชิ้นแรกของเขา Crucifixion 1933 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากปาโบล ปีกัสโซ ในแนวบาศกนิยม ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบให้กับงานของเขาในยุคหลังด้วย ภาพนี้ถูกตีพิมพ์พร้อมกันลงในหนังสือของเฮอร์เบิร์ต รี้ด (Herbert Read) และอาร์ท นาว (Art Now) และผลงานของเขาก็ถูกซื้อไปอย่างรวดเร็วโดยไมเคิล แซดเลอร์ (Michael Sadler) จากความสำเร็จของเขา ในปีต่อมาเบคอนก็จัดนิทรรศการของตัวเองขึ้น แต่ไม่ได้รับผลตอบรับเท่าที่ควร ต่อมาในภายหลังเบคอนเริ่มทำงานในแนวลัทธิเหนือจริง (Surrealism) และเฮอร์เบิร์ต รี้ดก็ได้ส่งภาพวาดของเขาเข้าร่วมในนิทรรศการ The International Surrealist Exhibition อีกด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธว่าผลงานของเบคอนยังมีความเหนือจริงไม่พอ เบคอนจึงกลับไปใช้ชีวิตพเนจรและทำงานวาดภาพอยู่บ้างในช่วงปี ค.ศ. 1936-1944[10] และในปี ค.ศ. 1937 ได้เข้าร่วมกลุ่มจัดแสดงนิทรรศการภายใต้ชื่อ Young British Painters อีกด้วย[11]

ช่วงการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมในปี ค.ศ. 1940 และ 1950

ก่อนที่จะเกิดรูปแบบงานที่เป็นเอกลัษณ์ของตนเอง ฟรานซิส เบคอนได้พัฒนารูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานในแนวลัทธิเหนือจริง (surrealism) ไปสู่รูปแบบลัทธิการแสดงพลังอารมณ์ (expressionism) โดยหยิบยืมการเคลื่อนไหวของบุคคลจากภาพยนตร์และภาพถ่าย เขาเรียนรู้ลักษณะท่าทางของมนุษย์จากภาพถ่าย โดยเฉพาะจากภาพถ่ายของช่างภาพที่มีชื่อว่า เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ จึงไม่เป็นเพียงการที่เบคอนเริ่มค้นพบวิธีการเคลื่อนไหวในภาพวาด แต่เป็นการนำภาพวาดและภาพถ่ายมาใช้อย่างสอดคล้องกัน[12]

ฟรานซิส เบคอนประสบความสำเร็จและเข้าสู่การเป็นจิตรกรเต็มตัวในปี ค.ศ. 1944 โดยเป็นช่วงเวลาที่เบคอนได้อุทิศตนเพื่อการวาดภาพและสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานเหล่านี้คือ ภาพวาดบุคคลขนาดใหญ่บนผืนผ้าใบ (canvas) โดยส่วนมากมักจะเป็นรูปบุคคลเพียงคนเดียว อยู่ในห้องที่ว่างเปล่า ในกรงหรืออยู่กับพื้นหลังสีดำ[13] และเป็นช่วงที่เกรแฮม ซูเธอร์แลนด์ (Graham Sutherland) เพื่อนที่ร่วมจัดแสดงงานศิลปะได้แนะนำให้เขารู้จักกับผู้อำนวยการของ Hanover Gallery ซึ่งต่อมาสถานที่นี้จะกลายเป็นสถานที่ที่เขาได้จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1949 การจัดแสดงในครั้งนี้เบคอนได้วาดภาพภายใต้ชื่อชุด Heads ซึ่งเป็นงานที่มีนัยยะสำคัญสื่อถึงผลงาน 2 แบบของเบคอน ได้แก่ แบบแรก "The Scream" ที่รับมาจากภาพยนตร์เรื่อง บรอเนโอเซตเปอมกิน ของเซียร์เกย์ ไอเซนสไตน์ (Sergei Eisenstein) ซึ่งแสดงฉากกรีดร้องของครูที่ได้รับบาดเจ็บ[14] แบบที่สองคือ ภาพวาดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 (portrait of Pope Innocent X) ผลงานของดีเอโก เวลาสเควส (Diego Velázquez) ซึ่งเบคอนไม่ได้เห็นภาพจริงเห็นเพียงสำเนาของภาพนี้เท่านั้น[15] โดยเบคอนได้สร้างสรรค์ผลงานตามสไตล์ของตนเอง ด้วยการใช้สีโทนมืด ใช้ฝีแปรงแบบหยาบ ๆ และวาดใบหน้าของบุคคลที่นั่งอยู่ให้บิดเบือน ซึ่งผลงานเหล่านี้ของเบคอนกลายมาเป็นที่รู้จักว่าเป็นภาพวาดพระสันตะปาปากรีดร้อง (screaming pope)[16] ในปี ค.ศ. 1953 Hanover นำผลงานของเบคอนมาจัดแสดงรวมไปถึงภาพ Two Figure ซึ่งเป็นภาพผู้ชาย 2 คนนอนกอดกันบนเตียง ทำให้กลายเป็นที่อื้อฉาวเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ช่วงปี ค.ศ. 1940-1950 ยังมีผลงานอื่น ๆ อีก เช่น ภาพวาดบุคคลที่ยืนอยู่ข้างซากสัตว์ที่ถูกถลกเนื้อหนัง และภาพวาดอื่น ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอิทธิพลในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาเช่น ภาพการตรึงกางเขนของพระเยซู ภาพวาดผลงานของเบคอนทุกภาพจะเน้นย้ำประสบการณ์ความทุกทรมานและความแปลกแยกทั่วทั้งโลกที่เขาได้ประสบพบเจอมา[17]

ช่วงการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมหลังปี ค.ศ. 1960 และช่วงสุดท้ายของชีวิต

ในช่วงระยะเวลาการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่ของเบคอน ภายใต้แนวคิดลัทธินามธรรม (abstract art) เบคอนยังคงวาดภาพเกี่ยวกับร่างกายและใบหน้าของบุคคล การแสดงอารมณ์ผ่านพู่กันและสี เช่นเดียวกันกับรูปแบบลักษณะที่เกินจริงของเบคอน ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นจิตรกรในลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ หรือแสดงพลังอารมณ์ (expressionism)[18]

ผลงานบางส่วนของเบคอนในช่วงปี ค.ศ. 1960 วาดภาพผู้ชายที่สวมชุดสูทคล้ายชุดทำงานของนักธุรกิจอยู่เพียงผู้เดียวในภาพ ส่วนภาพอื่น ๆ ที่แสดงลักษณะเปลือยกายก็มักจะถูกปรับเปลี่ยนลักษณะและสัดส่วนให้ดูพิลึกกึกกือ เบคอนมักจะวาดภาพบุคคลที่เขารู้จักอยู่บ่อยครั้ง ทั้งลูเซียน ฟรอยด์ (Lucian Freud) และจอร์จ ไดเออร์ (George Dyer) เพื่อนสนิทของเขาโดยใช้สีสันที่สดใส[19] และในช่วงนี้เขาก็หันมาวาดภาพตัวเอง (self-portrait) มากขึ้น โดยอ้างว่า “ผู้คนรอบ ๆ ตัวเขาเหมือนแมลงวันที่กำลังจะตาย ไม่เห็นมีอะไรที่น่าจะนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานเลย” และยังคงสร้างสรรค์ผลงานเรื่อยมา โดยเบคอนได้วาดภาพจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นความทรงจำถึงจอร์จ ไดเออร์ ซึ่งภาพทั้งหลายเหล่านี้อยู่ในรูปแบบสามตอน (triptych) ขนาดใหญ่ ทั้งผลงานชุด Black Triptych ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ดี โดยเล่ารายละเอียดที่ผ่านมาของจอร์จ ไดเออร์ด้วย[20] แต่อย่างไรก็ตามลักษณะแนวคิดหลักในการสร้างสรรค์ผลงานของเบคอนก็คือ ความรุนแรงและความตาย[21]

ช่วงกลางปี ค.ศ. 1970 เบคอนได้พบกับจอห์น เอ็ดเวิดส์ (John Edwards) ซึ่งเข้ามาแทนที่ไดเออร์กับดีกิน โดยเป็นช่างภาพและเพื่อนสนิทกับเบคอน ปี ค.ศ. 1973 เบคอนกลายเป็นจิตรกรศิลปะร่วมสมัยชาวอังกฤษคนแรกที่ได้จัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art) ในนิวยอร์ก ซึ่งผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงในระดับนานาชาติมาตลอดในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต รวมไปถึงการจัดนิทรรศการรำลึกถึงเบคอนที่ The Hirshhorn Gallery และ The Tate Gallery ด้วย[22] และฟรานซิส เบคอนยังคงเก็บรักษาบ้านและสตูดิโอรกอันฉาวโฉ่ในกรุงลอนดอนไว้ และเขาก็ยังสร้างสรรค์ผลงานของตนเองเรื่อยมาจนกระทั่งถึงบั้นปลายของชีวิต ฟรานซิส เบคอนได้เสียชีวิตในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1992 ที่เมืองมาดริด ประเทศสเปน ด้วยอายุ 82 ปี[23]

ใกล้เคียง

ฟรานซิส เบคอน (ศิลปิน) ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ฟรานซิส ไลต์ ฟรานซิส คริก ฟรานซิส รอว์ดอน-เฮสติงส์ ลอร์ด เฮสติงส์ ฟรานซิส เบคอน ฟรานซิส เจฟเฟอส์ ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ ฟรานซิส เดรก ฟรานซิส ฟริธ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฟรานซิส เบคอน (ศิลปิน) http://www.biography.com/people/francis-bacon-2141... http://www.francis-bacon.com http://www.francis-bacon.com/biography/?c=1909-26 http://www.jameshymangallery.com/artists/79/biogra... http://www.artquotes.net/masters/bacon/paint_2figu... http://www.theartstory.org/artist-bacon-francis.ht... http://en.wikipedia.org/wiki/Painting_(1946) http://en.wikipedia.org/wiki/Study_after_Vel%C3%A1... http://en.wikipedia.org/wiki/Three_Studies_for_Fig... http://www.tate.org.uk/art/artworks/bacon-study-fo...